บทความ น่ารู้
เตรียมตัวอย่างไรก่อนเริ่มทำประกันชีวิต
หลากคำถาม ??? หลายความกังวล !!!
ว่าด้วยเรื่องกลุ้ม ๆ ของคนที่อยากทำประกันชีวิตฉบับแรก แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง
เพราะประกันชีวิตถือเป็นสัญญาที่ผูกพันระยะยาวที่แม้จะมีข้อดีมากมาย แต่ขณะเดียวกันผู้เอาประกันภัยก็ต้องมีวินัยในการบริหารจัดการเงินและนำส่งเบี้ยประกันภัยให้ตรงตามกำหนด เพื่อให้ตนเองเกิดสภาพคล่องสูงสุดและได้รับผลประโยชน์ตามความคุ้มครองอย่างครบถ้วน วันนี้ ซัมซุงประกันชีวิตจึงอยากชวนทุกคนมาเริ่มเตรียมตัวง่ายๆ กับ 4
สเตปที่จะช่วยให้คุณวางแผนประกอบการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
1.ประเมินความเสี่ยงที่ต้องการความคุ้มครอง ประเมินสวัสดิการความคุ้มครองที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ประกันสังคม, ประกันกลุ่มในที่ทำงาน ฯลฯ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว, ทุนการศึกษาของบุตรหลาน, เงินสำรองในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเงินออมสำหรับเกษียณ หากประเมินแล้วพบว่าสวัสดิการหรือเงินสำรองที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ คุณยังต้องการความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติม ก็สามารถที่จะนำหลักเกณฑ์เหล่านั้นมาตั้งเป็นโจทย์สำคัญในการมองหาแบบประกันชีวิตที่มีผลประโยชน์และความคุ้มครองครอบคลุม ตรงตามความต้องการของคุณ
2.ศึกษาแบบประกันชีวิตอย่างละเอียด เมื่อตั้งโจทย์กับตัวเองได้แล้วว่าคุณมีเป้าหมายทางการเงินแบบไหนและต้องการจะให้ประกันชีวิตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนนี้อย่างไร ก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องมาทำความรู้จักกับแบบประกันชีวิตหลักทั้ง 4 แบบ ประกอบไปด้วย
2.1 ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
แบบประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองระยะยาวและจะให้เงินคืนกรณีมีชีวิตอยู่จนถึงวันครบกำหนดสัญญา โดยบางแบบอาจให้ความคุ้มครองไปจนกว่าผู้เอาประกันภัยจะอายุครบ 99 ปีเลยทีเดียว หรือในกรณีที่มีการเสียชีวิตไปก่อน คนที่อยู่ข้างหลังจะได้รับสินไหมตามจำนวนเงินเอาประกันชีวิตและเงื่อนไขที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ นับเป็นแบบประกันที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการจะส่งต่อมรดกหรือสร้างทุนทรัพย์สำรองไว้ให้กับสมาชิกในครอบครัว
2.2 ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
แบบประกันที่เน้นให้ความคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก มีระยะเวลาชัดเจนและคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่คุ้มครองเท่านั้น ไม่มีเงินคืน ณ วันครบกำหนดสัญญา ข้อดีของประกันแบบนี้คือให้ความคุ้มครองสูงกว่ารูปแบบอื่น ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนเบี้ยประกันชีวิตที่เท่ากัน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการหาหลักประกันให้กับคนที่ยังอยู่ข้างหลังในชั่วระยะเวลาที่จำกัด ตามแต่เงื่อนไขและความต้องการของผู้เอาประกันภัย
2.3 ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
แบบประกันที่ผสมความคุ้มครองชีวิตและการออมเงินเข้าด้วยกัน ด้วยลักษณะของประกันที่จะให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต และมีการจ่ายเงินคืนกรณีมีชีวิตอยู่จนถึงวันครบกำหนดสัญญา โดยบางแบบประกันชีวิตอาจมีการจ่ายเงินคืนระหว่างสัญญาตามแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ และเงินคืนที่ได้จากการทำประกันชีวิตนั้นจะไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ประกันแบบนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เหมาะสำหรับคนที่ต้องการฝึกวินัยในการออม ต้องการเงินคืนตามระยะเวลาและได้รับความคุ้มครองชีวิตไปพร้อม ๆ กัน
2.4 ประกันชีวิตแบบบำนาญ
แบบประกันชีวิตที่ผสมการคุ้มครองชีวิตและการสะสมเงินบำนาญเข้าด้วยกัน โดยลักษณะของประกันแบบนี้จะเน้นให้ความคุ้มครองรายได้ในยามเกษียณ มีการให้เงินคืนกับคุณเป็นงวด ๆ หลังอายุ 55 ปี หรือ 60 ปีตามแต่เงื่อนไขที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ และจะได้รับเงินคืนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบกำหนดสัญญาหรือจนกว่าจะเสียชีวิต นอกจากนี้ยังให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตก่อนช่วงรับเงินบำนาญอีกด้วย ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ต้องการวางแผนเกษียณ สร้างหลักประกันให้กับตนเองในยามปั้นปลาย
3.เช็กรายรับรายจ่ายอย่างถี่ถ้วน เมื่อได้ทราบตัวเลือกของประกันชีวิตแต่ละแบบที่สนใจไปจนถึงศึกษารายละเอียดของประกันชีวิตที่ต้องการจะทำอย่างชัดเจนแล้ว ขั้นต่อมาคือการคำนวณค่าใช้จ่ายของตนเอง รวมถึงเป้าหมายทางการเงินในอนาคต ทำการแบ่งสรรปันส่วนให้กับการทำประกันชีวิตอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะนำส่งเบี้ยประกันภัยได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่กระทบกับการดำเนินชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ตามความคุ้มครองที่ครบถ้วนและต่อเนื่อง อาจเริ่มจาก 10-20% ของรายได้ในแต่ละเดือน เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็อาจจะขยายความคุ้มครองไปยังส่วนอื่น ๆ หรือมองหาประกันชีวิตเพิ่มเติมในภายหลัง
4.เลือกจำนวนเงินเอาประกันชีวิตที่เหมาะสม สามารถใช้วิธีทวีคูณรายได้ (The multiple of earnings method) โดยพิจารณาจากรายได้ต่อปี และนำตัวเลขทั้งหมดมาทวีคูณเป็นจำนวนเท่าของรายได้ โดยคูณเข้ากับจำนวนปีที่ต้องการสำรองเงินก็จะได้ออกมาเป็นจำนวนเงินเอาประกันชีวิต ซึ่งจะช่วยให้คนที่ยังอยู่ข้างหลังสามารถปรับตัวหรือดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ตลอดช่วงเวลานั้น ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับเรา
สามารถใช้สูตรลองคำนวณตามได้ ดังนี้
จำนวนเงินเอาประกันชีวิต = รายได้ต่อปี x จำนวนปีที่ต้องการสำรองเงินให้คนที่อยู่ข้างหลังได้ปรับตัว
#ซัมซุงประกันชีวิต
#ทางเลือกที่สมาร์ทให้ชีวิตคุณสมูท
#สัญญาเพิ่มเติม
#SamsungLife
#ให้ซัมซุงประกันชีวิตดูแลคุณ
#สุขภาพการเงิน
#วางแผนการเงิน
#การเงิน
ที่มา : SET